การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540(2) ในประวัติศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในช่วงเหตุการณ์ หลัง 6 ตุลาคม 2519 – 17พฤษภาคม 2535 มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลกระทบต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในเวลาต่อมาหลายประการ
กบฎ 1 เมษายน 2524 พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่ม จปร. 7 โดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจการเมืองปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก ระหว่าง จปร.5 และ จปร. 7 แต่การปฏิวัติกลับล้มเหลว ทั้งที่มีการใช้สรรพกำลังยุทโธปกรณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐประหารของไทย ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรม แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้ เป็นการสิ้นสุดอำนาจการเมืองของ คณะนายทหาร จปร.7
การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนชนชั้นล่าง พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ซึ่งดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลทหารด้วยอาวุธในป่า และได้มีนักศึกษา จำนวนหลายพันคน ที่หนีเข้าป่าจากการล้อมปราบด้วยอาวุธของรัฐบาลในการชุมนุมการเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าไปร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธในป่า จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 พคท. มีการเจรจากับรัฐบาลไทย เลิกต่อสู้ทางการเมืองด้วยอาวุธ ให้ออกมาต่อสู้กันทางรัฐสภา เป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่66/2523 เรื่อง แนวทางการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยวิธีการเมืองนำการทหารของรัฐบาล
การรัฐประหารในการเมืองไทย รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยการนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีคณะนายทหาร จปร.5 เป็นแกนหลัก ยึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2521ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ2534รัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะนายทหาร จปร.5 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2534
การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนชั้นกลาง พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนโดยการนำของอดีตคณะทหาร จปร.7 เคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ คณะรัฐประหาร ระหว่างวันที่17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับ ประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พล.อ.สุจินดา คราประยูรแถลงว่ามีประชาชนเสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
แม้จะเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ระหว่างคณะนายทหาร จปร.5 กับ จปร.7 และมีกลุ่มประชาชนชนชั้นกลางเข้าร่วมกับ จปร.7 ในเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 ทมิฬ แต่ก็ส่งผลกระทบทางการเมืองเป็นอย่างยิ่งให้แก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร พ่ายแพ้ทางการเมืองต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการสิ้นสุดอำนาจของ คณะนายทหาร จปร. 5 ต่อมาได้มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540ฉบับประชาชน
กล่าวได้ว่าเป็นการใช้ความรู้ของนักวิชาการร่าง รัฐธรรมนูญที่มีโครงสร้างทางการเมือง ที่มาและเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยของประชาชนที่สุดในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น